ตัวอย่าง โรคโจเกรน(โรคระบบภูมิค้มกัน)



ตัวอย่าง  โรคโจเกรน (โรคระบบภูมิคุ้มกัน)


'โรคโจเกรน' หรือ ‘โรคปากแห้ง ตาแห้ง’ เป็นอย่างไร





เมื่อปลายปีที่แล้ว มีข่าวที่สั่นสะเทือนวงการเทนนิสโลก โดยเฉพาะเทนนิสหญิง เมื่อวีนัส วิลเลียมส์ (venus williams) อดีตนักเทนนิสมือ 1 ของโลก เมื่อปี พ.ศ. 2545 เจ้าของแชมป์แกรนด์ สแลม (grand slam) ถึง 9 รายการ รวมทั้งเหรียญทองโอลิมปิกเกมส์ ปี 2543 ประกาศถอนตัวจากการแข่งขันรายการ u.s. open ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา 


 เนื่องจากป่วยเป็นโรคโจเกรน (sjogren's disease) ทำให้เธอมีอาการปวดข้อ และอ่อนเพลียมาก จนไม่สามารถฝึกซ้อมหรือลงแข่งขันเทนนิสได้ และสำหรับต้นปีนี้เธอก็ยังไม่แน่ใจว่าจะกลับมาร่วมแข่งขันในรายการแกรนด์สแลมรายการแรกที่ประเทศออสเตรเลีย (australian open) ได้หรือไม่




โรคโจเกรน (sjogren's disease หรือ sjogren's syndrome) เป็นอย่างไร
โรคโจเกรน เป็นชื่อที่ตั้งตามชื่อของจักษุแพทย์ชาวสวีเดน หรือถ้าจะเรียกเป็นภาษาไทยน่าจะเรียกว่า "โรคปากแห้ง  ตาแห้ง" หลายท่านอาจจะเริ่มสงสัยว่า โรคที่มีอาการปวดข้อ อ่อนเพลียจะไปเกี่ยวอะไรกับ ปากแห้ง ตาแห้ง ที่ภาษาไทยน่าจะใช้ชื่อนี้ เพราะโรคโจเกรนเป็นโรคแพ้ภูมิตนเอง โรคหนึ่งที่ผู้ป่วยจะมีภูมิคุ้มกันที่ผิดปกติ ไม่ต่อต้านหรือทำให้เกิดการอักเสบที่อวัยวะต่างๆ คล้ายๆ กับโรคเอสแอลอี หรือที่คนไทยรู้จักว่าโรคพุ่มพวง แต่ภูมิคุ้มกันที่ผิดปกติในผู้ป่วยโรคโจเกรนมักจะไปทำให้เกิดการอักเสบที่ต่อมน้ำลาย และต่อมน้ำตาโดยในระยะแรกจะมีเม็ดโลหิตขาวเข้าไปอยู่ในต่อมน้ำลายหรือต่อมน้ำตา จนต่อมเหล่านี้มีขนาดโตขึ้น





การเข้าไปอยู่ของเม็ดโลหิตขาวและภูมิคุ้มกันนี้ทำให้เกิดการอักเสบของต่อมน้ำลายและต่อมน้ำตา ผู้ป่วยอาจมีอาการปวดตึงบริเวณต่อมเหล่านี้หรือไม่มีก็ได้ ต่อมาการอักเสบที่เกิดขึ้นจะทำลายเนื้อของต่อมน้ำลายและต่อมน้ำตาจนเหลือเป็นพังผืด ต่อมเหล่านี้ก็จะไม่สามารถผลิตน้ำลาย หรือน้ำตาออกมาทำหน้าที่หล่อลื่นและให้ความชุ่มชื้นต่อเยื่อบุในช่องปากหรือเยื่อบุรอบตาทำให้ผู้ป่วยมีอาการปากแห้ง และตาแห้งได้ อาการที่ผู้ป่วยจะทราบว่ามีความผิดปกติเกิดขึ้นคือ อาการปากคอแห้งต้องดื่มน้ำบ่อยๆ ต้องรับประทานข้าวคำ น้ำคำ หรือถ้าใช้เสียงมาก หรือพูดมากจะมีอาการคอ แห้งเสียงแหบได้ง่าย บางรายปากแห้งถึงขนาดมีรอยปริแตกที่ลิ้นหรือที่มุมที่มมปากได้



ส่วนอาการตาแห้งผู้ป่วยจะมีอาการระคายเคืองตาง่าย มีความรู้สึกคล้ายมีฝุ่นในเปลือกตาอยู่เรื่อยๆ หรือตาแดงอยู่เรื่อยๆ บางรายถึงกับมีปวดตาด้วย ถ้าไม่ได้รับการตรวจและรักษา อาจถึงกับทำให้ตาบอดได้ นอกจากอาการปากแห้งตาแห้งแล้ว ผู้ป่วยจะมีอาการคล้ายผู้ป่วยที่มีโรคแพ้ภูมิตนเองชนิดอื่น คือ มีปวดข้อ ข้ออักเสบ หรือข้อบวมได้ มีอาการอ่อนเพลีย ไม่มีแรง เหนื่อยง่าย มีไข้ต่ำๆ บางรายมีการอักเสบของอวัยวะอื่นๆ เช่น เส้นเลือดอักเสบ กล้ามเนื้ออักเสบ ไตอักเสบ ผู้ป่วยบางรายมีการอักเสบที่บริเวณท่อไต ทำให้การปรับสมดุลของเกลือแร่ในร่างกายเสียไป มีการเสียเกลือแร่โพแทสเซียมออกไปเกิน ทำให้มีระดับเกลือแร่โพแทสเซียมในเลือดต่ำลงเป็นพักๆ ทำให้ผู้ป่วยมีอาการแขนขาอ่อนแรง หรือไม่มีแรงได้ บางรายถึงขนาดมีแคลเซียมไปเกาะในไตก็ได้   โรคโจเกรนนี้อาจเกิดเป็นโรคแพ้ภูมิตนเองชนิดเดียวในผู้ป่วยหรือเกิดขึ้นร่วมกับโรคแพ้ภูมิตนเองชนิดอื่น เช่น พบร่วมกับโรคข้ออักเสบรูมาตอยด์หรือโรคเอสแอลอีก็ได้ โดยที่อาการเด่นคืออาการปากแห้ง ตาแห้ง โดยทั่วไปโรคโจเกรนจะมีลักษณะเหมือนโรคแพ้ภูมิตนเองชนิดอื่น คือมักเกิดขึ้นในผู้หญิงตั้งแต่วัยกลางคนจนถึงสูงอายุ ในขณะเดียวกันผู้หญิงสูงอายุบางครั้งก็มีอาการตาแห้งได้ 


บางคนตาแห้งจนต้องใช้น้ำตาเทียมหยอดตาบ่อยๆ ซึ่งก็เป็นอาการปกติตามอายุซึ่งไม่ได้เกิดจากโรคโจเกรนดังนั้น การจะวินิจฉัยให้ได้แน่นอนว่าเป็นโรคโจเกรนหรือไม่คงต้องอาศัยการตรวจเลือดทางห้องปฏิบัติการดูว่า ผู้ป่วยมีภูมิคุ้มกันที่ผิดปกติเฉพาะที่เข้าได้กับโรคโจเกรนหรือไม่ ถ้าผู้ป่วยมีอาการปากแห้ง หรือตาแห้ง ร่วมกับมีผลตรวจทางห้องปฏิบัติการให้ผลบวก ก็ให้การวินิจฉัยได้ว่าเป็นโรคโจเกรน
ถึงแม้ตามโรงพยาบาลจะมีผู้ป่วยโรคโจเกรนมารับการตรวจอยู่จำนวนหนึ่ง แต่ยังไม่มีการสำรวจในประเทศไทยว่าอุบัติการณ์ของโรคโจเกรนมีมากน้อยเพียงใด แต่การศึกษาในประเทศสหรัฐอเมริกาพบอุบัติการณ์ประมาณร้อยละ 1ของประชากร ในปัจจุบันนี้ยังไม่มีใครทราบสาเหตุที่แท้จริงที่ทำให้เกิดโรคโจเกรนขึ้น แต่คาดว่าน่าจะมีปัจจัย
อะไรบางอย่างจากสิ่งแวดล้อมที่มีการกระตุ้นหรือเปลี่ยนแปลงระบบภูมิคุ้มกันของผู้ป่วย ทำให้เกิดภูมิคุ้มกันที่ผิดปกติที่มาต่อต้านเนื้อเยื่อของต่อมน้ำลายหรือต่อมน้ำตาของผู้ป่วย นอกจากนี้ยังมีปัจจัยอื่นๆ ที่มีการแสดงให้เห็นว่ามีผลทำให้โรคกำเริบมากขึ้น เช่น ความเครียดทางร่างกาย หรือจิตใจ การตรากตรำ การพักผ่อนไม่เพียงพอ เป็นต้น
การรักษาโรคโจเกรนจะคล้ายกับการรักษาโรคแพ้ภูมิตนเองอื่นๆ คือ พยายามลดการอักเสบที่อวัยวะต่างๆ โดยเฉพาะที่ต่อมน้ำลาย ต่อมน้ำตา และพยายามปรับหรือกดภูมิคุ้มกันที่ผิดปกติ ขณะเดียวกันถ้าผู้ป่วยมีอาการปากแห้งตาแห้งซึ่งเป็นอาการที่ทำให้ผู้ป่วยได้รับความไม่สะดวกในชีวิตหรือถึงกับได้รับความทุกข์ทรมาน ก็ต้องพยายามบรรเทาด้วยการใช้น้ำลายเทียมหรือน้ำตาเทียมช่วย หรือพยายามกระตุ้นต่อมที่เหลืออยู่ให้ผลิตน้ำลายหรือน้ำตาเพิ่มขึ้น
ทั้งนี้ทั้งนั้นการรักษาจะขึ้นอยู่กับอาการและความรุนแรงของโรคโจเกรนของผู้ป่วย ผู้ป่วยแต่ละรายจะมีอาการแสดงและความรุนแรงของโรคแตกต่างกัน มีลักษณะโรคที่ไม่เหมือนกัน การรักษาต้องปรับให้เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละราย เช่นบางรายใช้เพียงน้ำตาเทียม บางรายต้องใช้ยาปรับภูมิคุ้มกัน เช่น ยาต้านมาลาเรียบางรายใช้ยากดภูมิคุ้มกัน เช่น ยาเมโธรเทรกเสตบางรายถึงกับต้องใช้ยาสเตียรอยด์



นอกจากนี้การปฏิบัติตัวของผู้ป่วยก็มีความสำคัญกับการรักษาการพักการใช้งานข้อและกล้ามเนื้อ การมีการพักผ่อนพอเพียง การใช้ชีวิตที่มีความเครียดน้อยลงการใช้แว่นกันแดดกันลมไม่ให้ระคายเคืองตาที่แห้ง การดื่มน้ำมากๆ เหล่านี้จะช่วยให้การรักษาโรคโจเกรนได้ผลดีมากขึ้น เมื่อได้รับการรักษาและมีการปฏิบัติตัวที่ถูกต้อง ผู้ป่วยโรคโจเกรนส่วนมากสามารถมีกิจกรรมในชีวิตได้ตามปกติ และก็หวังว่าวีน วิลเลียมส์จะสามารถกลับมาลงแข่งขันเทนนิสได้ใหม่


ที่มา:
http://www.thaihealth.or.th/Content/18587-'%E0%B9%82%E0%B8%A3%E0%B8%84%E0%B9%82%E0%B8%88%E0%B9%80%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%99'%20%E0%B8%AB%E0%B8%A3%E0%B8%B7%E0%B8%AD%20%E2%80%98%E0%B9%82%E0%B8%A3%E0%B8%84%E0%B8%9B%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B9%81%E0%B8%AB%E0%B9%89%E0%B8%87%20%E0%B8%95%E0%B8%B2%E0%B9%81%E0%B8%AB%E0%B9%89%E0%B8%87%E2%80%99%20%E0%B9%80%E0%B8%9B%E0%B9%87%E0%B8%99%E0%B8%AD%E0%B8%A2%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B9%84%E0%B8%A3.html
http://www.toptenthailand.com/topten/detail/20140425163257961
http://thaiandhealth.com/articles/%E0%B8%81%E0%B8%A5%E0%B8%B8%E0%B9%88%E0%B8%A1%E0%B8%AD%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B9%82%E0%B8%88%E0%B9%80%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%99-%E0%B8%81%E0%B8%A5%E0%B8%B8%E0%B9%88%E0%B8%A1%E0%B8%AD%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B9%80%E0%B8%AD%E0%B8%AA%E0%B9%80%E0%B8%AD%E0%B8%AA-%E0%B9%82%E0%B8%A3%E0%B8%84%E0%B8%9B%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B9%81%E0%B8%AB%E0%B9%89%E0%B8%87%E0%B8%95%E0%B8%B2%E0%B9%81%E0%B8%AB%E0%B9%89%E0%B8%87-sjogren%E2%80%99s-syndrome-ss.html


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น